สำหรับเด็กยุคใหม่ที่เกิดมาก็รู้จักกับคำว่าอินเตอร์เน็ตถือว่าเป็นคนยุคสมัยใหม่ที่มีความโชคดีเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งนี้มันกลายเป็นวิถีชีวิตของหลายๆ คนในการทำอะไรได้มากมายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากให้ลองย้อนอดีตกลับไปดูในสมัยที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตการรับรู้ในเรื่องราวต่างๆ มันยังเป็นเรื่องที่ช้า ไม่ทันสมัยอย่างที่ควรจะเป็น จึงนับได้ว่าอินเตอร์เน็ตเข้ามาเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นโลกที่ก้าวล้ำสมัยได้อย่างแท้จริง
จุดเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ต
ในช่วงปี ค.ศ. 1969 หน่วยโครงการวิจัยขั้นสูงของสหรัฐฯ ได้มีการสนับสนุนเพื่อต้องการให้เกิดการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยในช่วงนั้นต้องยอมรับว่านี่เป็นสิ่งที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนักแถมอินเตอร์เน็ตในสมัยดังกล่าวยังชื่อของเครือข่ายสำนักงานวิจัยขั้นสูง หรือที่เรียกว่า อาร์พาเน็ต (Arpanet) เป็นการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ของสถาบันการศึกษา 4 แห่ง ประกอบไปด้วย ม.แคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ม.ยูทาห์ กับ ม.แคลิฟอร์เนีย ที่ซานตาบาร์บาร่า รวมถึงสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออยู่ก็มีอยู่เยอะมากถูกแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ อาพาร์เน็ตของเครือข่ายสำนักงานโครงสร้างวิจัยขั้นสูง กับ มิลเน็ต ของเครือข่ายกองทัพ ในช่วงแรกๆ ของการเกิดอินเตอร์เน็ต 2 เครือข่ายนี้นับว่าเป็นเครือข่ายที่สำคัญมากของทวีปอเมริกาเหนือ จนเมื่อมีคนเล็งเห็นถึงความสำคัญก็ค่อยๆ ทำการเพิ่มรายละเอียดการศึกษาเข้าไปมากขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้สามารถใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่จนในปี ค.ศ. 1984 เครือข่ายนี้ก็ถูกเรียกว่า อินเตอร์เน็ต จนเราได้ใช้งานกันอย่างจริงจังมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจัดว่าเป็นเครือข่ายสาธารณะทุกคนสามารถใช้งานอย่างอิสระ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องราวต่างๆ ได้มากมาย สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก
การเข้ามาในประเทศไทยของอินเตอร์เน็ต
ระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามายังประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 เมื่อ ม. สงขลานครินทร์ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียได้ทำการเชื่อมต่อมินิคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยกับสถาบันไปที่ ม. เมลเบิร์น ออสเตรเลีย เป็นการเชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์ แต่การส่งข้อมูลยังช้าและถือเป็นแค่การทดลองชั่วคราว 5 ปีต่อมาศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติได้ทำการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ประกอบไปด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.เกษตรศาสตร์, ม.สงขลานครินทร์, ม.ธรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เกิดเป็นเครือข่ายไทยสาร ก่อนที่สำนักวิทยาบริการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเช่าวงจรสื่อสารที่ความเร็ว 9,600 บิตต่อวินาที จากการสื่อสารแห่งประเทศไทยเพื่อทำการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกับบริษัทในสหรัฐฯ จากนั้นระบบอินเตอร์เน็ตของไทยก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงการเปิดบริการอินเตอร์เน็ตให้กับตัวบุคคลเป็นการให้บริการเชิงพาณิชย์จนกลายเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยแบบทุกวันนี้